โรคหัวใจรูมาติก

โรคหัวใจรูมาติก (rheumatic heart disease/RHD) คือ ลิ้นหัวใจจะเกิด การพิการ คือ ตีบและรั่ว เมื่อถึงขั้นนี้ เราเรียกโรคลิ้น หัวใจพิการ เกิดจาก ไข้รูมาติก ที่พบในคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็ก อายุ 5 -15 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างยากจน หรืออยู่กันอย่างแออัด ผู้ป่วยรูมาติกจะมีการอักเสบของข้อและหัวใจ พร้อม ๆ กัน ถ้าปล่อยให้มีอาการกำเริบซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะทำ ให้หัวใจมีการอักเสบเรื้อรัง

ในประเทศไทยเคยมีการสำรวจพบว่า ในหมู่นักเรียน อายุ 5 -15 ปีในบางท้องที่มีผู้ป่วยหัวใจรูมาติกประมาณ 0.5 – 2.1 ต่อนักเรียน 1,000 คน ในปัจจุบันพบได้น้อยลง

สาเหตุ โรคหัวใจรูมาติก

               โรคนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนของคออักเสบหรือทอนซิลอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื้อว่า บีตาฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (beta-hemolytic Streptococcus group A) ซึ่งอาจพบได้ประมาณร้อยละ 0.3-3 ของ ผู้ป่วยที่เป็นคออักเสบหรือทอลซิลอักเสบจากเชื้อชนิดนี้  ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่าถูกต้อง

                 อาการของไข้รูมาติก มักเกิดหลังคออักเสบหรือ ทอนซิลอักเสบประมาณ 1- 4 สัปดาห์ ทำให้มีอาการอักเสบของข้อต่าง ๆ และมักมีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย กลไกของการเกิดโรคนี้มีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune) กล่าวคือ เมื่อมีการติดเชื้อที่ ลำคอ ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อโรค แล้วสารนี้เกิดไปสร้างปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเอง ทำให้เกิดอาการอักเสบของข้อ หัวใจผิวหนัง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

อาการ โรคหัวใจรูมาติก

ลักษณะที่พบบ่อย ๆ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้และปวด บวมแดงร้อนตามข้อใหญ่ ๆ เช่นข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อศอก ซึ่งมักจะเป็นมากกว่าหนึ่งข้อ โดยจะไม่ปวดขึ้น  พร้อมกัน แต่จะปวดที่ข้อหนึ่งก่อน แล้วจึงย้ายไปปวดที่ อีกข้อหนึ่ง แต่ละข้อจะมีอาการอักเสบอยู่นาน 5 – 10 วัน

บางรายอาจเป็นเรื้อรังถึงกับลุกเดินไม่ได้เป็นแรมเดือน อาการปวดบวมตามข้อมักจะหายได้เองแม้ไม่ได้รักษาข้อที่อักเสบจะกลับเป็นปกติ ไม่มีร่องรอยความพิการ แต่อย่างใด

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย

 ผู้ป่วยมักมีอาการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย ถ้าเป็นไม่มากอาจไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หอบ นอนราบไม่ได้ เนื่องจากภาวะหัวใจวาย

                ผู้ป่วยอาจมีประวัติเป็นไข้เจ็บคอนำมาก่อนประมาณ 1- 4 สัปดาห์ แต่บางรายอาจไม่มีประวัติดังกล่าวก็ได้

                นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการผื่นแดงขึ้นแผ่ออก โดยรอบ เป็นวงขอบแดง ตรงกลางขาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์ กลาง 1-3 ซม.เรียกว่า อีริทีมามาร์จินาตุม (erythema marginatum) ไม่เจ็บ ไม่คัน และจางหายได้เองอย่างรวดเร็ว (บางครั้งอาจหายภายในวันเดียว) มักขึ้นตรงบริเวณก้นหรือแขนขาส่วนต้น ถ้าพบมักแสดงว่ามีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย

                บางรายอาจมีตุ่มขึ้นอยู่ใต้ผิวหนัง (subcutaneous nodules) ตรงบริเวณข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อศอก เจ็บ จับให้เคลื่อนอยู่ใต้ผิวหนังได้ อาจมีขนาดเท่าเมล็ด ถั่วเขียว หรือใหญ่ขนาด 2 ซม. ตุ่มนี้จะค่อย ๆ ยุบได้เอง กินเวลาหลายสัปดาห์ ถ้าพบมักแสดงว่ามีการอักเสบของ หัวใจร่วมด้วย

                บางรายอาจมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแขนขา หรือส่วนอื่น โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถบังคับได้ เช่น แขน ขาขยุกขยิก หรือปัดแกว่งโดยไม่ตั้งใจ บางรายอาจ  พูดไม่ชัด เขียนหนังสือ หรือหยิบของไม่ถนัด เป็นต้น อาการแบบนี้เรียกว่า โคเรีย (chorea) เกิดจากมีความ ผิดปกติในสมองร่วมด้วย อาจพบเป็นอาการโดด ๆ หรือ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ก็ได้ มักมีอาการหลังเจ็บคอ 1 – 6 เดือน (เกิดช้ากว่าอาการปวดข้อและอื่น ๆ) ถ้าพบมักแสดงว่ามีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย

การป้องกัน โรคหัวใจรูมาติก

  1. ถ้าพบเด็กมีอาการปวดข้อ หรือมีอาการสงสัย ว่าเป็นไข้รูมาติกควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว และถ้าเป็นโรคนี้จริง ควรแนะนำให้ผู้ป่วยติดต่อรักษา กับแพทย์เป็นประจำ จะช่วยป้องกันมิให้กลายเป็นโรค หัวใจรูมาติกได้
  2. เนื่องจากโรคนี้พบมากในเด็กอายุ 5 -15 ปี  ซึ่งอยู่ในวัยเรียน ครูในโรงเรียนและเจ้าหน้าที่อนามัยโรงเรียน จึงนับว่ามีบทบาทต่อการควบคุมและป้องกันโรคนี้ได้  เป็นอย่างมาก ควรหาทางส่งเสริมสนับสนุนให้ครูและ เจ้าหน้าที่อนามัยที่โรงเรียนมีความรู้และมีส่วนร่วมใน การแก้ปัญหาในเรื่องนี้
  3. โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาคออักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ  จากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอด้วยยาปฏิชีวนะให้ได้ครบ 10 วันเป็นอย่างน้อย

การรักษา โรคหัวใจรูมาติก

1. หากสงสัยเป็นไข้รูมาติก ควรแนะนำผู้ป่วยไป ตรวจรักษาที่โรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง

                ผู้ป่วยมักจะต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล  มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด (ตรวจ ESR,ASO titer) ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ และถ้าจำเป็นอาจต้อง  ตรวจพิเศษอื่น ๆ ส่วนการรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะเพนิซิลลินวี  หรืออีริโทรไมซิน อย่างน้อย 10 วัน และให้แอสไพริน 2-4 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง

                ในรายที่มีอาการหัวใจอักเสบรุนแรง อาจให้ สตีรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน 

                ถ้ามีภาวะหัวใจวาย  ก็ให้การรักษาแบบ ภาวะหัวใจวายร่วมได้

เมื่ออาการดีแล้ว ควรนัดผู้ป่วยมาตรวจรักษาเป็นประจำ โดยจะให้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็น ระยะยาวเพื่อป้องกันมิให้ลิ้นหัวใจพิการกลายเป็นโรค หัวใจรูมาติก ซึ่งสามารถเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

                • ฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน (benzathine penicillin) 600,000 ยูนิต (สำหรับผู้ป่วยน้ำหนัก ≤ 27 กก.) หรือ1.2 ล้านยูนิต (สำหรับผู้ป่วยน้ำหนัก > 27 กก.) เข้ากล้าม ทุก 4 สัปดาห์ ในรายที่เป็นซ้ำบ่อยอาจ ให้ทุก 3 สัปดาห์ วิธีนี้มีประสิทธิภาพดีกว่ายากิน

                •  กินเพนิซิลลินวี 250 มก. (400,000 ยูนิต) วันละ 2 ครั้ง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทุกวัน
                • กินอีริโทรไมซีน 250 มก. วันละ 2 ครั้ง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทุกวัน
                • กินซัลฟาไดอาซีน (sulfadiazine) 500 มก.(สำหรับผู้ป่วยน้ำหนัก ≤ 27 กก.) หรือ 1 กรัม (สำหรับ ผู้ป่วยน้ำหนัก > 27 กก.) วันละครั้ง ทุกวัน

ระยะเวลาในการให้ยา ขึ้นอยู่กับลักษณะของ โรคดังนี้

  • ผู้ป่วยที่เคยมีการอักเสบของหัวใจและมีลิ้นหัวใจผิดปกติอย่างถาวร ควรให้นานอย่างน้อย 10 ปี นับ จากการอักเสบครั้งหลังสุด และจนกระทั่งผู้ป่วยอายุอย่างน้อย 40 ปี บางกรณีอาจต้องให้ยาป้องกันไปตลอดชีวิต
  • ผู้ป่วยที่เคยมีการอักเสบของหัวใจ แต่หายไป ในเวลาต่อมา ควรให้นาน 10 ปี หรือจนกระทั่งเข้าวัยผู้ใหญ่
  • ผู้ป่วยที่ไม่เคยมีการอักเสบของหัวใจ ควรให้นาน 5 ปี หรือจนกระทั่งอายุ 21 ปี

2.ในรายที่สงสัยเป็นโรคหัวใจรูมาติก เช่น ใช้เครื่องฟังหัวใจได้ยินเสียงฟู่ (murmur) ควรแนะนำให้ผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล ถ้าเป็นจริงก็อาจต้องกินยา ปฏิชีวนะดังกล่าวไปตลอดชีวิต

                ในรายที่มีภาวะหัวใจวาย ก็ต้องให้ยารักษาแบบภาวะหัวใจวาย

                ส่วนในรายที่ลิ้นหัวใจพิการมากจนผู้ป่วยมีภาวะหัวใจวายรุนแรง อาจต้องผ่าตัดขยายลิ้นหัวใจที่ตีบ หรือใส่ลิ้นหัวใจเทียม ซึ่งจะช่วยให้มีชีวิตยืนยาวไปได้นาน

                ผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจพิการก่อนถอนฟันหรือให้แพทย์ตรวจรักษาโดยการสอดใส่เครื่องมือหรือสายสวน ในทางเดินหายใจหรือทางเดินปัสสาวะ ควรใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันมิให้เกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบแทรกซ้อน 


[Total: 5 Average: 5]